ตามที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนว่างงาน บัณฑิตจบใหม่ไม่สามารถหางานทำได้ รวมถึงนักศึกษาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คาดได้ว่าจะมีโครงการภายใต้ “พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”
ในภาครัฐที่จะลงไปดำเนินการในพื้นที่หรือชุมชน อาทิเช่นโครงการด้านการเกษตรสมัยใหม่ ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP การท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ในพื้นที เพื่อให้เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยของรัฐกว่า 80 แห่งที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศจะทำหน้าที่เป็น System Integrator ในระดับตำบล โดยที่มหาวิทยาลัยในพื้นที่สามารถใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ ทำงานประสานและร่วมงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การทำงานบูรณาการนี้ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลที่สามารถนำไปสู่การลดความยากจนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Poverty Alleviation)
วัตถุประสงค์
- เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็น System Integrator
- เพื่อให้เกิดการจ้างงานประชาชน บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน
- เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน
- เพื่อให้เกิดการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data)
แผนกิจกรรม
- กิจกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร
- กิจกรรมการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน การท่องเที่ยว การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าหมุนเวียนในชุมชน